ราชวงศ์ชิง
(ค.ศ. 1644-1912)

ธงราชวงศ์ชิง
ยุคปลายราชวงศ์หมิง ชาวแมนจูได้เข้าโจมตีประเทศจีนจากทางตอนเหนือ และยึดครองจีนได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1644 ราชวงศ์หมิงล่มสลาย จักรพรรดิซุนจื่อได้สถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นมาแทน
เนื่องจากเป็นราชวงศ์ที่ไม่ได้ปกครองโดยชาวฮั่น ราชวงศ์ชิงจึงมีนโยบายประนีประนอมเพื่อเอาใจประชาชน ซึ่งมีนโยบายสำคัญดังนี้
- การจัดพระราชพิธีปลงพระศพจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิง
- การยกย่องขุนนางราชวงศ์หมิงที่สละชีพปกป้องราชวงศ์
- การสอบจอหงวนตามแบบราชวงศ์หมิง
- การคืนที่ดินให้แก่เกษตรกร ลดอัตราภาษี
ทำให้ช่วงต้นของราชวงศ์ชิง เกษตรกรรมเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1050 ล้านไร่ อีกด้านหนึ่ง ราชวงศ์ชิงมีนโยบายแข็งกร้าวเพื่อควบคุมประชาชน ซึ่งมีนโยบายสำคัญ ได้แก่
- สังหารประชาชนที่ก่อจลาจล
- ห้ามประชาชนรวมกลุ่มจัดตั้งสมาคม
- บังคับให้ไว้ทรงผมแบบชาวแมนจู คือ การตัดผมด้านหน้าครึ่งศีรษะออก แล้วผูกเปียผมด้านหลัง
- นำกฎหมายอาชญาทางภาษา(เหวินจื้ออวี้) มาใช้หลายครั้ง เพื่อควบคุมความคิดของชาวฮั่นให้อยู่ในกรอบ

ภาพทรงผมแบบชาวแมนจู
ในสมัยราชวงศ์ชิง เกิดกระแสอนุรักษนิยมอย่างมากในสังคม เช่น การลงโทษคนรักเพศเดียวกัน ค่านิยมผู้หญิงบริสุทธิ์ ค่านิยมของผู้ชายที่จะไม่แต่งงานกับหญิงหม้าย อีกทั้งยังส่งผลให้ศิลปวัฒนธรรมในยุคนี้ถูกจำกัด ผลงานที่เข้าข่ายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติจะถูกทำลาย โรงละครหลายแห่งถูกสั่งปิด แต่ถึงอย่างนั้น วรรณกรรมความฝันในหอแดง(หงโหลวเมิ่ง) ซึ่งเป็นวรรณกรรมชื่อดังของจีนก็ถือกำเนิดขึ้นในยุคราชวงศ์ชิง
ในสมัยรัชกาลจักรพรรดิคังซี จักรพรรดิยงเจิ้ง และจักรพรรดิเฉียนหลง ราชวงศ์ชิงมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก สามารถปกครองได้อย่างสงบสุข และมีเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรือง จากสถิติที่มีการบันทึก ในรัชกาลคังซีปีที่ 24 ทั่วประเทศมีพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกถึง 600 ล้านไร่จีน เมื่อมาถึงช่วงปลายรัชกาลของเฉียนหลง ทั่วประเทศมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเป็น 1,050 ล้านไร่จีน ผลผลิตทางการเกษตรทั่วประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 204,000 ล้านชั่ง จนเป็นประเทศที่มีผลผลิตสูงที่สุดในโลกในสมัยนั้น

จักรพรรดิคังซี
หลังยุคราชวงศ์ชิงเจริญสูงสุด ก็เกิดการเสื่อมถอยลงอย่างรุนแรง ทั้งจากปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง เศรษฐกิจที่ล้าสมัย การล่าอาณานิคม ซึ่งเกิดเหตุการณ์สำคัญมากมายดังนี้
- สงครามฝิ่น เกิดจากการที่อังกฤษนำฝิ่นมาขายที่ประเทศจีนเป็นปริมาณมาก ทำให้ชาวจีนจำนวนมากติดฝิ่น หลินเจ๋อสวีซึ่งเป็นขุนนางในยุคนั้นจึงทำการปราบปรามฝิ่น ทำให้เกิดความขัดแย้งกับอังกฤษหลายครั้ง จนอังกฤษได้นำกองเรือมาทำสงครามกับจีน ฝ่ายอังกฤษชนะ และเกิดสนธิสัญญานานกิง บังคับให้จีนเปิดเมืองท่า และให้สิทธิคนอังกฤษไม่ต้องขึ้นศาลประเทศจีน และต้องยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ
- กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว เกิดจากการที่ราชวงศ์ชิงขูดรีดภาษีจากประชาชนเพื่อมาจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม จึงเกิดการรวมตัวของประชาชนจำนวนมากเพื่อที่จะต่อต้านราชวงศ์ชิง แต่สุดท้ายราชวงศ์ชิงก็ร้องขอให้อังกฤษมาช่วยปราบกบฏ ทำให้กบฏไท่ผิงเทียนกั๋วถึงจุดจบ
- กบฏนักมวย คือกลุ่มกบฏที่สนับสนุนราชวงศ์ชิงและได้รับการสนับสนุนจากพระนางซูสีไทเฮา กลุ่มกบฏนักมวยได้ทำการต่อต้านชาวต่างชาติอย่างรุนแรง เกิดการทำร้ายและสังหารชาวต่างชาติ จึงได้เกิดกองทัพพันธิมิตรแปดชาติมาตอบโต้จีน ฝ่ายราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้และต้องยอมชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมากและต้องยอมให้ต่างชาติตั้งกองทหารในเขตที่ต้องการอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ของชาติ ทำให้กระแสโค่นล้มราชวงศ์ชิงในกลุ่มประชาชนยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

พระนางซูสีไทเฮา
หลังพระนางซูสีไทเฮาสิ้นพระชนม์ ราชสำนักชิงมีท่าทีอ่อนลง เกิดการเสนอร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นความหวังแก่ประชาชน แต่สุดท้ายรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างออกมาก็ยังคงอำนาจแก่ราชวงศ์ชิงเหมือนเดิม ประชาชนจึงไปสนับสนุน ดร.ซุนยัดเซน ซึ่งมีแนวคิดล้มล้างราชวงศ์ชิง
ในท้ายที่สุด ดร.ซุนยัดเซน ได้ร่วมมือกับนายพลหยวน ซือไข่ ล้มล้างราชวงศ์ชิงและก่อตั้งสาธารณรัฐจีน ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในจีนที่มีมายาวนานกว่า 5,000 ปี