สาธารณรัฐประชาชนจีน
(ค.ศ. 1949-ปัจจุบัน)

เหมา เจ๋อตงประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินและปกครองระบอบคอมมิวนิสต์
หลังชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง เหมา เจ๋อตงได้ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 และได้เปลี่ยนวันชาติเป็นวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี
เหมา เจ๋อตงได้ยึดที่ดินกลับมาเป็นของส่วนกลางและแบ่งให้ประชาชนทุกคนตามหลักคอมมิวนิสต์ เหมาได้ดำเนินนโยบายก้าวกระโดด นั่นคือการเน้นอุตสาหกรรมเหล็ก โดยการใช้ชาวบ้านทุกหมู่บ้านนำโลหะจากเครื่องใช้มาถลุงเพื่อป้อนอุตสาหกรรม แต่สุดท้ายนโยบายนี้ก็ล้มเหลว เนื่องจากทำให้ภาคเกษตรกรรมชลอตัว ชาวบ้านเสียเวลาไปกับการถลุงเหล็ก แต่เหล็กจำนวนมากที่ได้มาไม่มีคุณภาพมากพอที่จะนำไปใช้ต่อ ประชากรเสียชีวิตหลายล้านคนจากการอดอยาก
นอกจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลวแล้ว เหมายังดำเนินนโยบายด้านวัฒนธรรม โดยการจัดตั้งกลุ่มเรดการ์ดเพื่อสร้างความปั่นป่วน แล้วโฆษณาชวนเชื่อให้คล้อยตามลัทธิเหมา มีการคุกคามศัตรูทางการเมืองโดยการใช้นโยบายปฏิรูปวัฒนธรรมเป็นข้ออ้าง
ถึงจะมีปัญหามากมายในยุคของเหมา แต่เหมาก็ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษามากขึ้น มีการพัฒนาโครงสร้างภายในของประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

เติ้ง เสี่ยวผิง
หลังจากที่เหมาเสียชีวิต เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศจีนและดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจจีนโดยมีแนวคิด “ปฏิรูปและเปิดออก” ในช่วงแรกภาครัฐได้ถ่ายโอนภาคเกษตรกรรมกลับคืนสู่ประชาชนในระดับปัจเจกบุคคล เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ และอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ แต่ถึงอย่างนั้นอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงเป็นของภาครัฐอยู่ ในช่วงระยะต่อมา ภาครัฐได้โอนกิจการบางส่วนไปให้เอกชน ยกเลิกมาตรการควบคุมราคาสินค้า นโยบายปกป้องธุรกิจ และกฎระเบียบหลายอย่างลง แต่ยังคงมาตรการเหล่านี้ไว้ในธุรกิจภาคธนาคารและปิโตรเลียมไว้เช่นเดิม นโยบายนี้ช่วยลดภาวะความยากจนลงอย่างมาก แต่ก็สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเช่นกัน
เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ผู้มีแนวคิดเสรีนิยมได้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนได้ออกมาไว้อาลัยและแสดงความไม่พอใจในเรื่องการปฏิรูปประเทศที่ล่าช้า ผู้ชุมนุมค่อย ๆ ขยายตัวขึ้นอย่างเรื่อย ๆ จนเกิดการก่อตั้งสหภาพนักศึกษาชั่วคราว

กลุ่มผู้ชุมนุม
เหตุการณ์ความขัดแย้งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลีของทางการจีนตีพิมพ์บทความกล่าวหากลุ่มนักศึกษาว่าต้องการสร้างความวุ่นวายโดยมีวางแผนมาก่อนแล้ว ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงไม่พอใจและยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ในช่วงเวลานั้น มีการจัดประชุมสุดยอดจีน-โซเวียตขึ้น แต่ไม่สามารถจัดพิธิต้อนรับที่จัตุรัสเทียนอันเหมินได้ เหตุเพราะผู้ชุมนุม จึงต้องจัดที่สนามบินแทน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับทางการ
หลี่ เผิง นายกรัฐมนตรีจีนได้เจรจากับนักศึกษา แต่การเจรจาไม่เป็นผล
จ้าว จือหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศขอให้นักศึกษาหยุดการชุมนุม แต่นักศึกษาปฏิเสธ

ประชาชนยืนขวางรถถัง
สุดท้าย สมาชิกอวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์มีมติเห็นชอบให้ใช้กำลังในการยุติการชุมนุม กองกำลังทหารพร้อมรถถังเข้าล้อมสถานที่ เกิดการใช้กระสุนจริง ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทหารบางคนก็ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายเช่นกัน ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดเนื่องจากรัฐบาลจีนปฏิเสธที่จะเปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้อง นักศึกษาหลายคนได้ลี้ภัยผ่านปฏิบัติการช่วยเหลือในฮ่องกงที่มีชื่อว่า Operation Yellow Bird